Nov 11, 2009

คำนำจากผู้แปล (ครูส้ม)





ขอน้อมจิตคารวะพระอาจารย์และอาจารย์ทุกท่าน


ท่านมิลาเรปะ เป็นโยคีธิเบต มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. ๑๕๙๖ ถึง พ.ศ. ๑๖๗๘ ท่านเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่บิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก ครอบครัวของท่านซึ่งประกอบด้วยมารดา ตัวท่านและน้องสาว จึงต้องประสบความยากลำบากอย่างมาก เพราะถูกลุงและป้าโกงทรัพย์สมบัติไปจนหมด และบังคับให้มารดาและตัวท่านทำงานรับใช้ลุงป้าเยี่ยงทาส ทั้งยังถูกดุด่าทุบตีทำร้ายร่างกายและให้อยู่อย่างอด ๆ ยาก ๆ

มารดาของท่านมีความคับแค้นใจอย่างมาก จึงได้ส่งท่าน มิลาเรปะหนุ่ม ไปร่ำเรียนวิชากับอาจารย์ทางไสยศาสตร์ จนท่านสำเร็จวิชาอาคม เดินทางกลับไปแก้แค้นลุงป้าและญาติที่คดโกงรังแกครอบครัวของท่านจนเสียชีวิตไปหลายคน

ต่อมาท่านรู้สึกเสียใจและสำนึกผิดต่อการกระทำของตัวเอง จึงหันมาปฏิบัติธรรม ท่านแสวงหาและศึกษากับพระอาจารย์ทางธรรมหลายท่าน แต่ก็ไม่เจริญก้าวหน้า กระทั่งได้รับการแนะนำจากลามะท่านหนึ่งให้ไปพบท่านอาจารย์มาร์ปะ

ท่านอาจารย์มาร์ปะ มิได้รับท่านเป็นศิษย์โดยทันที แต่กลับให้บททดสอบที่ยากลำบาก และทรมานต่าง ๆ อยู่หลายปี แต่ท่านก็อดทนทำตามคำสั่งและปรนนิบัติอาจารย์มาร์ปะด้วยความภักดี ในที่สุดอาจารย์มาร์ปะจึงยอมรับท่านเป็นศิษย์

อาจารย์ได้สั่งให้ท่านไปปลีกวิเวกเพื่อเจริญสมาธิอยู่ในถ้ำเป็นเวลา ๑๑ เดือน จนได้บรรลุญาณขั้นเบื้องต้น จากนั้นท่านได้ศึกษาคัมภีร์ทั้งของทางฝ่ายหินยานและมหายานอย่างเข้มข้น และตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยความพากเพียร

วันหนึ่งขณะที่ท่านเจริญสมาธิอยู่ในถ้ำ ท่านได้นิมิตถึงมารดาว่าเสียชีวิตแล้วอย่างน่าสังเวช และเห็นน้องสาวเดินโซซัดโซเซขอทานอย่างน่าสงสาร ท่านบังเกิดทุกขเวทนาเหลือประมาณ ความทรมานใจทำให้ท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และเห็นโทษทุกข์แห่งสังสารวัฏ ท่านจึงตั้งจิตอธิฐานว่าจะบำเพ็ญสมาธิอยู่บนเทือกเขาสูงอย่างสันโดษ จนกว่าจะบรรลุถึงโพธิญาณสูงสุด

ท่านใช้เวลานาน ๑๒ ปี จำศีลบำเพ็ญสมาธิอยู่ในถ้ำ กล่าวกันว่าตลอดระยะเวลาที่ท่านจำศีล ท่านรับประทานแต่เพียงใบไม้ จนกระทั่งร่างกายของท่านกลายเป็นสีเขียวเช่นเดียวกับสีใบไม้

เมื่อท่านได้บรรลุถึงความรู้แจ้งแล้ว ท่านจึงเริ่มออกเทศนาสอนชาวบ้าน และเดินทางเผยแผ่พระธรรมตามหมู่บ้านต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักและเลื่อมใสทั้งในเนปาลและธิเบต

ท่านมิลาเรปะเป็นผู้มีเสียงไพเราะกังวาล และชอบขับร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ในสมัยเด็กท่านมีชื่อ “โตปะ กะ” (Topa Ga) “โตปะ”แปลว่าได้ยิน ส่วน”กะ”แปลว่าปีติยินดี ดังนั้นชื่อของท่านจึงมีความหมายว่า เป็นผู้ที่มีน้ำเสียงและคำพูดที่ทำให้คนฟังเกิดความปีติยินดี

วิธีการสอนธรรมะของท่านไม่เหมือนพระอาจารย์ท่านอื่น ๆ ท่านสอนผ่านบทกวีที่ท่านขับร้องออกมา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ ท่านมักจะยกอุปมาเปรียบเทียบระหว่างธรรมะกับธรรมชาติ แม้แต่พระธรรมชั้นสูงที่ยากและลึกซึ้ง ท่านก็สามารถเทศนาเป็นบทกวีที่ไพเราะ ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง แต่เข้าใจได้ง่าย

ท่านยังเป็นผู้มีจิตใจเปิดกว้าง สอนชาวบ้านมิให้คิดแบ่งแยกลัทธินิกาย อย่าเอาภูมิความรู้จากการท่องพระคัมภีร์มาอวดอ้างกัน ไม่เน้นให้สั่งสมบุญด้วยการสร้างศาสนวัตถุหรือพิธีกรรม แต่ท่านจะสอนย้ำเน้นเสมอว่า จงลงมือปฏิบัติ ให้ทำความดี รักษาศีล และหมั่นเจริญสมาธิอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ธรรมคีตาของท่านทุกบท ล้วนประกอบไปด้วยบทปุจฉาวิสัชนา แม้กระทั่งการโต้คารม ปะทะความคิดกันอย่างดุเดือดระหว่างท่านกับปีศาจ ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นคุรุผู้มีจิตใจเปิดกว้าง ท่านมิได้มีทักษะการขับร้องและเทศนาบทกวีธรรมเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นผู้มีทักษะการฟังเป็นเลิศ คุณลักษณะพิเศษเช่นนี้ ท่านจึงสามารถสร้างสรรค์บทเพลงขึ้นใหม่ทุก ๆ ครั้งที่สนทนากับชาวบ้านหรือปะทะกับผีปีศาจ ทำให้บทธรรมคีตาของท่าน มีจำนวนมากมาย ซึ่งชาวบ้านนิยมขับร้องสืบสานต่อกันมาหลายรุ่นจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากบทเพลงธรรมะของท่านมิลาเรปะ มีผู้รวบรวมเป็นหนังสือขึ้นหลายสำนวน ทั้งฉบับภาษาธิเบตและภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับที่คัมภีร์เต้าเต๋อจิงของท่านเหลาจื่อ ได้ถูกบันทึกและแปลออกมาหลายสำนวน
ผู้แปลได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษ ๔ สำนวนด้วยกัน คือ
๑. “Drinking the Mountain Stream” โดย ลามะ คุนกะ รินโปเช และไบรอัน คูทิลโล
๒. Milarepa : Songs on the Spot” โดย นิโคล ริกส์
๓. “Songs of Milarepa” โดย โรนัล เฮอร์เดอร์ เป็นบรรณาธิการ
และเล่มสุดท้าย ๔. “The Hundred Thousand Songs of Milarepa” โดย การ์มะ เฉินชีฉาง (Garma Chen Chi Chang)

ขณะที่ผู้แปลอ่าน “The Hundred Thousand Songs of Milarepa” ซึ่งเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษโดยศาสตราจารย์เฉินชีฉาง ผู้แปลอ่านอย่างสนุกและวางไม่ลง ได้รู้สึกว่าธรรมะช่างเป็นเรื่องสามัญ เข้าใจง่าย และไม่ต้องรีรอ จึงเกิดแรงดลใจให้ลงมือแปลธรรมคีตาของท่านมิลาเรปะ จากต้นฉบับเล่มนี้ แม้ หนังสือจะมีความหนาถึง ๗๓๐ หน้า ประกอบด้วยธรรมคีตา ๖๑ บท แต่ยิ่งอ่าน ยิ่งแปล ก็ยิ่งเกิดฉันทะ และมีความปีติผุดพรายขึ้นเบา ๆ ตลอดเวลา จึงตั้งใจว่าจะค่อย ๆ แปลไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบ ซึ่งคงใช้เวลาเป็นปีทีเดียว

เนื่องด้วยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปรารภว่าอยากให้จัดพิมพ์ “ธรรมคีตาของท่านมิลาเรปะ” นี้ให้ทันเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ซึ่งจะมีภาพยนตร์เรื่องชีวประวัติของท่านมิลาเรปะมาแสดงด้วย ผู้แปลจึงส่งบทที่ ๑ ถึง บทที่ ๔ ซึ่งแปลเรียบร้อยแล้วให้พิมพ์ออกมาเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งทั้ง ๔ บทนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ได้กรุณาตรวจแก้และให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้แปล ซึ่งผู้แปลขอกราบขอบพระคุณ และขอขอบคุณ คุณสยาม พึ่งอุดม และอาจารย์ฌาณเดช พ่วงจีน ซึ่งช่วยแนะนำและให้กำลังใจ ขอขอบคุณไพโรจน์ จะเชิญรัมย์ ที่ช่วยประสานงาน

ผู้แปลสำนึกเสมอในความเป็นผู้รู้น้อย หากแต่มีจิตใจใฝ่รู้ และตั้งจิตที่จะเข้าถึงปัญญาแห่งชีวิต การแปลนี้จึงเป็นเสมือนการเดินทางช่วงหนึ่ง ท่านผู้อ่านเปรียบเหมือนมิตรที่พบระหว่างทาง ผู้แปลหวังว่าการพบกันของนักเดินทางจะยังความรู้และความเบิกบานให้เกิดขึ้น แต่หากมีความผิดพลาดประการใด ผู้แปลขอน้อมรับและสัญญาว่าจะตั้งใจศึกษาต่อไป

สมพร อมรรัตนเสรีกุล (พึ่งอุดม)
ท้ายบ้าน เชียงราย